หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2554

MANCALA (หมากหลุม)


MANCALA (หมากหลุม หรือหมากขุม)


เกมนี้ทำให้นึกถึงสมัยเด็กๆ เลยนะครับ (คนเขียนแก่แล้ว) เด็กสมัยนี้ไม่รู้จะเล่นหมากขุมกันเป็นหรือเปล่า แต่ก็ข้ามไปแล้วกันนะครับ เข้าเรื่องกันเลย เกม MANCALA เป็นเกมของค่าย Offscreen นะครับ เกมนี้ผมไม่แน่ใจครับว่ามีให้ดาวน์โหลดใน OVI Store ด้วยหรือเปล่า เกมนี้สำหรับโทรศัพท์มือถือ Nokia 5233, 5230, 5235, 5530 Xpress Music, 5800 Xpress Music, X6, N97, N97 mini

เกมนี้สามารถเล่นคนเดียวแข่งขันกับคอมพิวเตอร์ หรือเล่น 2 คนแข่งกับเพื่อน โดยใช้วิธีพลัดกันเล่นก็ได้ครับ หากจะเล่นคนเดียวก็ให้กดที่ไอค่อนรูปคน 1 คน หากต้องการเล่น 2 คนก็กดที่ไอค่อนรูปคน 2 คนนะครับ


เกม MANCALA นี้ยังเป็นเวอร์ชั่น 1.0 ซึ่งก็ไม่ทราบว่าทางผู้ผลิตจะมีการออกเวอร์ชั่นอื่นมาอีกหรือไม่ แต่เท่าที่ผมเล่นมา ไม่ว่าจะเล่นแบบคนเดียว หรือ 2 คน ก็ยังไม่พบปัญหาอะไรนะครับ อ่านวิธีเล่นหมากขุมได้ด้านล่างนะครับ วิธีเล่นเหมือน MANCALA ครับ ต่างกันที่จำนวนลูกแก้ว และจำนวนหลุมเท่านั้นเอง


หน้าตาเกมครับ เป็นหลุมๆ ดูแล้วใครเคยเล่นหมากหลุม หรือหมากขุมมาก่อนจะเข้าใจได้ง่ายเลยนะครับ แต่ในเกมจะเป็นเวอร์ชั่นย่อมเยาว์ ซึ่งมีลูกหมาก หรือลูกแก้วหลุมละ 3 ลูก (ปกติที่เล่นกันจะมีหลุมละ 7 ลูก)


การแพ้ชนะก็เมื่อเดินจบหมดลูกแก้วแล้ว ให้นับจำนวนลูกแก้วในหลุมใหญ่ (ถ้าเป็นหมากหลุม หรือหมากขุม จะเรียกหลุมใหญ่ว่าเรือน หรือหัวเมือง ก็แล้วแต่จะเรียกนะครับ) ใครมีลูกแก้วเยอะกว่าก็ชนะไปครับ


มาดูประวัติ และวิธีเล่น หมากหลุม หรือหมากขุมกันครับ

ประวัติ :

หมากขุมเป็นการละเล่นพื้นเมืองชนิดหนึ่งของชาวภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปจนถึงจังหวัดนราธิวาส และพบในจังหวัดภาคกลางตอนใต้คือ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่เรียกชื่อผิดเพี้ยนกันไปบ้าง ชาวภาคใต้เรียกการเล่นชนิดนี้ว่า หมากขุม ส่วนชาวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เรียก หมากหลุม ซึ่งคำว่าขุม กับ หลุม มีความหมายเดียวกัน

หมากขุม จะมีที่มาอย่างไรและเกิดขึ้นที่ใดก่อนไม่ปรากฏหลักฐาน เห็นแต่นิยมเล่นกันในครัวเรือนทั่วทั้งภาค ปัจจุบันการเล่นหมากขุมลดน้อยลงมาก เพราะมีการละเล่นใหม่ๆ และสื่อของความสนุกสนานเพลิดเพลินเข้ามามาก เช่น การเล่นเกมส์ต่างๆ ในโทรทัศน์ อันเป็นสิ่งที่ทันสมัย และให้ความเพลิดเพลินมากกว่า อีกทั้งการเล่นหมากขุมเล่นได้เพียงครั้งละสองคนเท่านั้น

อุปกรณ์ในการเล่นหมากขุม ประกอบด้วย รางหมากขุม และลูกหมากขุม

รางหมากขุม มีรูปร่างลักษณะคล้ายเรือพายยาวประมาณ 90 ถึง 100 เซนติเมตร กว้างประมาณ 20 เซนติเมตร ทำจากท่อนไม้ผ่าซีก นิยมไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้หลุมพอ ไม้ตะเคียน เป็นต้น เพื่อความทนทาน

วิธีทำ เมื่อได้ท่อนไม้มีความยาวตามที่ต้องการแล้ว ใช้เลื่อยเลื่อยไม้ออกเป็นสองซีก แล้วใช้ขวานถากไม้ให้เป็นรูปเรือก้นแบน ถากที่ก้นจนเรียบ เพื่อว่าเมื่อวางแล้วรางหมากขุมจะตั้งตรง ไม่โคลงเคลง ถากหัวท้ายทั้งสองข้างให้เป็นรูปรีปลายมนให้เท่ากัน ต่อจากนั้นกะขนาดขุมทั้งสองด้าน ด้านละเจ็ดขุมให้มีขนาดพอที่มือผู้ใหญ่ควักลงไปได้ ทางหัวรางทั้งสองข้างกะให้เป็นขุมขนาดใหญ่พอที่จะบรรจุลูกหมากขุมได้ทั้ง 98 ลูก การกะขุมต้องวางโครงร่างให้ดีคือ ให้มีขุมเท่ากันและระยะระหว่างขุมเท่ากัน โดยใช้ดินสอเขียนวงกลมทุกขุม แล้วใช้สิ่วกับค้อนตอกขุดไม้เป็นขุมกลมๆ บางคนใช้เหล็กเผาไฟจนแดงแล้วจิ้มลงไปในเนื้อไม้จนเกิดรอยไหม้ก่อน แล้วจึงใช้ค้อนตอกสิ่วลงไปสกัดเนื้อไม้ออก ขุดเรียงไปตามความยาวของรางทั้งสองด้านด้านละเจ็ดขุม ตรงหัวรางทั้งสองด้านเป็นขุมใหญ่เป็นเรือนสำหรับเก็บลูกหมากขุมเรียกว่า หัวแม่เรินหรือหัวแม่เรือน เมื่อขุดเรียบร้อยต้องใช้กระดาษทรายขัดถูให้ไม้เรียบไม่ให้มีเสี้ยนไม้เหลืออยู่เลย และต้องขัดจนเกลี้ยงเกลาเป็นมัน ปัจจุบันไม้เนื้อแข็งหายากเข้าทุกที มีผู้ทำจำหน่ายโดยใช้ไม้เนื้อเบาบาง ทาน้ำยาขัดมันและวาดลวดลายเพื่อให้ดูงดงาม แต่ของเดิมไม้เป็นมัน เพราะการขัดและการเล่นนานๆ เข้าไม้ก็มันไปเอง

ลูกหมากขุม นิยมใช้ลูกสวาดซึ่งมีลักษณะกลมรี เปลือกแข็งเป็นสีเทาเจือสีเขียว สวาด (Caesalpinia crista) เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ลำต้นมีหนาม ฝักมีหนามละเอียด เมล็ดกลมเปลือกแข็งสีเทาอมเขียว เมล็ดสวาดได้มาจากฝักที่แก่จัดแล้วมีน้ำหนักเบา ปัจจุบันหาได้ยาก สวาดขึ้นในป่า เมื่อป่าน้อยลงไป ต้นสวาดก็พลอยหายากไปด้วย ยังพอจะหาได้ที่จังหวัดยะลา และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชาวยะลาเรียก ลูกหวาด แต่คนทางภาคใต้ตอนบนและตอนกลางตั้งแต่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ ตรัง เรียก ลูกสวด เป็นคำย่อมาจากสวาดทั้งสองคำ ลูกสวาดที่แกะออกมาจากเปลือกใหม่ ๆ จะคายมือ แต่เมื่อเล่นไปนาน ๆ ลูกจะลื่นเป็นมัน ทำให้หยอดลูกลงขุมได้รวดเร็วขึ้น บางแห่งหาลูกสวาดไม่ได้ใช้ลูกแก้วแทน แต่ลูกแก้วมีน้ำหนักมาก ควักยากและเวลาหยอดลงหลุมมีเสียงดัง ไม่ไพเราะอย่างลูกสวาด

วิธีเล่น เล่นทีละสองคน โดยนั่งหันหน้าเข้าหากัน เรือนของแต่ละคนอยู่ทางซ้ายมือ นับลูกสวาดลงในขุมๆ ละเจ็ดลูก ครบทั้ง 14 ขุม เริ่มการเล่นด้วยการนับ 1 ถึง 3 แล้วลงมือเดินหมากพร้อมกัน ใครจะควักขุมไหนก่อนก็ได้ (ต้องใช้คำว่า ควัก เพราะต้องใช้มือควักลงไปในขุม จะใช้ตัก ล้วง หรือหยิบก็ไม่ถูกต้องลักษณะของการเล่นประเภทนี้) เมื่อควักลูกออกมาแล้ว เดินหมากขุมอย่างรวดเร็ว การแจกลูกสวาดลงไปในขุมทุกขุมเรียกว่า เดินหมากขุม การเดินหมากขุมนี้จะเดินข้ามขุมใดขุมหนึ่งไม่ได้ ต้องหยอดลงทุกขุม เมื่อเดินหมากไปหมดในขุมที่มีลูกก็ควบเอาลูกหมากขุมเดินต่อไป ถ้าเดินหมากไปหมดในขุมว่าง ไม่มีหมากเลยเรียกว่า ตาย ต้องหยุดเดิน อีกฝ่ายหนึ่งก็เดินหมากต่อไป ถ้าถึงขุมว่างเปล่าก็ต้องตายอีก ถ้าเล่นตายทางฝ่ายตนเองหากมีลูกอยู่ในขุมตรงกันข้าม ก็จะกินลูกของฝ่ายนั้นได้หมด แต่ถ้าไปตายทางฝ่ายตรงกันข้ามก็ถือว่าตายเปล่า

การเล่นหมากขุม ผู้เล่นต้องพยายามเดินหมากให้ขึ้นเรือนของตนเองมากที่สุด ฝ่ายใดมีหมากหรือลูกสวาดในเรือนของตัวเองมาก ฝ่ายนั้นชนะ บางทีเล่นกันจนอีกฝ่ายหนึ่งไม่มีหมากเหลือเลยหรือเหลือไม่ถึง 7 ลูก เรียกว่า คอขาด ก็ต้องเป็นฝ่ายแพ้ไป

การเล่นหมากขุมสนุกตั้งแต่เริ่มเล่นจนจบรอบ เพราะเมื่อเริ่มเล่นต้องแข่งความเร็วกันในการหยอดลูกลงขุม และจะไม่ยอมตายก่อน จนมือของทั้งสองฝ่ายพัลวันกัน การจบรอบคือการเดินลูกหมากขุมขึ้นเรือนจนหมด ผู้ที่ยังมีลูกหมากขุมเหลืออยู่ในรางจะเป็นฝ่ายได้เดินก่อนในรอบต่อไป จึงต้องมีกลวิธีในการเล่น เมื่อขึ้นรอบใหม่ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายแจกลูกลงในขุมๆ ละเจ็ดลูกเหมือนเดิน ฝ่ายที่ไม่มีลูกแจกครบทุกขุม เรียกว่าเป็น ม่าย เช่น ขาดลูกไปหนึ่งขุมก็เป็นม่ายหนึ่งขุม ขาดลูกไปสองขุมก็เป็นม่ายสองขุม ต้องเอาของอย่างใดอย่างหนึ่งใส่ลงไปในขุมที่เป็นม่ายขุมแรก เพื่อให้เป็นเครื่องหมายสังเกตได้ง่าย เวลาเดินหมากต่อไปจะไม่เดินลูกลงในขุมที่เป็นม่าย

ผู้เล่นหมากขุมต้องมีกลวิธีในการเล่นว่าจะเดินขุมไหนก่อน และกะให้ลูกเดินขึ้นเรือนได้พอดี และหากลวิธีที่จะเดินหมากโดยมิให้อีกฝ่ายได้มีโอกาสเดินเลย บางครั้งเล่นเพียงสองสามรอบ อีกฝ่ายก็ต้องคอขาดเสียแล้ว แต่ถ้าไมีมีกลวิธีในการเล่นมักจะเล่นกันไปเรื่อยๆ บางทีเล่นทั้งวันก็ไม่สามารถทำให้อีกฝ่ายคอขาดได้เลย

การเล่นหมากขุมต้องมีความซื่อสัตว์ต่อกัน ไม่โกงกัน เช่น ผู้เล่นเดินหมากไปจนถึงขุมว่าง แต่แกล้งทำเป็นเดินต่อไปควักหมากอีกขุมหนึ่ง โดยที่อีกฝ่ายดูไม่ทัน เพราะการเดินหมากขุมถ้าผู้เล่นๆ ชำนาญจะหยอดลูกได้เร็วมาก และหยอดเรื่อยๆ ปากขุมไม่ยกมือขึ้นสูง ทำให้คู่ต่อสู้ดูไม่ทัน เป็นการเล่นโกงได้ จึงต้องมีความซื่อสัตย์ต่อกัน

การเล่นหมากขุมมักมีคนดูหรือผู้สนับสนุนแต่ละฝ่ายคอยให้กำลังใจ ถ้าใครเล่นชนะอีกฝ่ายจนถึงคอขาด ก็จะพลอยสนุกสนานไปด้วย ผู้เล่นจึงต้องเล่นอย่างใจเย็น เช่นเดียวกับการเล่นหมากรุกและสกา

การเล่นหมากขุม เล่นได้ตั้งแต่เด็กเล็กที่พอจะนับเลขได้จนถึงหนุ่มสาวและคนชรา ส่วนมากผู้ชรามักจะมีลูกหลานมานั่งเล่นเป็นเพื่อนให้คลายความเหงาและคลายเครียด

ประโยชน์ของการเล่นหมากขุม มีหลายประการดังนี้
  • ประการแรก เป็นการสนุกสนานพักผ่อนหย่อนใจในยามว่าง แต่ไม่ควรจะเพลิดเพลินนั่งเล่นทั้งวัน จนทำให้เสียงานเสียการ
  • ประการที่สอง ถ้าผู้เล่นเป็นเด็กทำให้รู้จักคิดเลขไปในตัวตั้งแต่การแจกลูกขุมละเจ็ดลูก และเมื่อเล่นไปก็คิดคำนวณได้ว่า ในขุมนั้นมีลูกอยู่เท่าใด เป็นการฝึกสมองด้านคณิตศาสตร์
  • ประการที่สาม ทำให้ตาไว เช่น ดูการเล่นของคู่ต่อสู้ได้ทัน ไม่ถูกโกง และสามารถนับลูกหมากขุมที่อยู่ในขุมได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งมองดูขุมที่จะเดินต่อไปได้แม่นยำว่าขุมใดเป็นขุมตายหรือขุมเป็น ทำให้เกิดตาไวและสมองไว เพราะในการเล่นมีกติกาห้ามนับลูก เป็นการเอาเปรียบฝ่ายตรงกันข้าม
  • ประการที่สี่ เป็นการประหยัด ผู้ปกครองไม่ต้องซื้อของเล่นที่มีราคาแพง เป็นการสิ้นเปลือง ทั้งในวันหยุดลูกหลานก็ได้อยู่กับบ้านเล่นหมากขุม ไม่ต้องออกไปเที่ยวเตร่
  • ประการที่ห้า ลูกหลานรู้จักเก็บงำข้าวของให้มีระเบียบ เมื่อเล่นหมากขุมเสร็จแล้ว ผู้เล่นต้องรู้จักเก็บรางหมากขุมและลูกให้เรียบร้อย เช่น รางหมากขุมอาจจะสอดไว้ใต้โต๊ะ ในตู้ มิให้วางเกะกะ ลูกหมากขุมก็เก็บใส่กล่องไว้โดยนับจำนวนให้ครบเพื่อได้เล่นในโอกาสต่อไป
การเล่นหมากขุมมิใช่เป็นการพนัน นอกจากว่าก่อนเล่นจะมีการสัญญากันว่าผู้แพ้ต้องถูกเขกหัวเข่า หรือต้องดื่มน้ำหนึ่งแก้ว บางทีเล่นกันจนผู้แพ้ทุกรอบต้องดื่มน้ำกันจนพุงกาง

คำศัพท์ที่ใช้ในการเล่นหมากขุม
  1. แจกหมาก คือ การนำลูกหมากขุมใส่ลงในขุมให้ครบตามจำนวนขุมละเจ็ดลูก
  2. เดินหมาก คือ การหยอดลูกหมากขุมลงในแต่ละขุม
  3. กุก คือ การควบลูกหมากขุมที่มีเพียงลูกเดียวในขุมหลังเข้าด้วยกันกับขุมหน้า แล้วเดินหมากต่อไป
  4. เป็นม่าย คือ เมื่อจบรอบการเล่น ฝ่ายใดไม่มีลูกสำหรับแจกหมากลงในขุมจำนวนกี่ขุมเรียกว่าเป็นม่ายเท่านั้นขุม เช่น เป็นม่าย 1 ขุม เป็นม่าย 2 ขุม
  5. ตาย คือ การเดินหมากสิ้นสุดลงในขุมว่าง
  6. คอขาด คือ การที่ฝ่ายหนึ่งสามารถเดินหมากขุมจนอีกฝ่ายหนึ่งเหลือลูกหมากขุมไม่ถึง 7 ลูก หรือไม่มีเหลือเลย
หมากขุม เป็นการละเล่นพื้นเมืองที่ให้แต่คุณประโยชน์ ความเพลิดเพลิน สนุกสนาน ใช้สมองและปฏิภาณไหวพริบ ความว่องไวทั้งมือและสมอง ควรที่จะอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกการเล่นของชาติสืบไป

ขอขอบคุณข้อมูลจาก นางเนาวรัตน์ (ทองรมย์) พลเดช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ลิ้งก์อ้างอิง : http://www.ku.ac.th/e-magazine/september47/know/kum.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...